ไทย  | อังกฤษ | ญี่ปุ่น
 
   


โรคไขมันพอกตับ ... เกิดขึ้นได้ แม้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

Fatty Liver Disease

 


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

ไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

ไขมันพอกตับ  คือ  ภาวะที่มีการสะสมของไขมันอยู่ในตับ  ซึ่งอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยอาจมีเพียงแค่ไขมันคั่งอยู่ในเซลล์ตับ หรือมีอาการอักเสบของตับเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง  นำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับ  ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลานับสิบปี  ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่อ้วนลงพุง  เป็นเบาหวาน  ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง

อาการ

โดยทั่วไปจะไม่มีอาการ มักจะพบความผิดปกติเมื่อมารับการตรวจสุขภาพประจำปีจากการตรวจเลือด หรืออุลตร้าซาวน์

การวินิจฉัย

ตรวจพบค่าตับอักเสบ  หรืออุลตร้าซาวน์พบว่ามีไขมันพอกตับ  ซึ่งจะต้องหาสาเหตุอื่นแยกออกไปก่อน  ได้แก่

-  การดื่มแอลกอฮอล์

-  ไวรัสตับอักเสบ

-  โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง

-  โรคที่มีเหล็กหรือทองแดงสะสมในร่างกายมากเกินไป

-  การรับประทานยาบางอย่าง  เช่น  สเตียรอยด์  ยากลุ่มฮอร์โมนทดแทน 
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์

-  อาหารเสริม  ยาสมุนไพรบางชนิด  ซึ่งเมื่อหยุดยาเหล่านี้แล้วการอักเสบของตับอาจหายไปเองก็เป็นได้แต่อาจจะยังพบไขมันพอกตับอยู่

-  ผู้ที่ขาดอาหารหรืออดอาหาร

ไขมันพอกตับมี 4 ระยะ  โดยแบ่งระยะจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ

ระยะที่ 1  มีไขมันพอกตับเท่านั้น  ไม่มีการอักเสบร่วมด้วย

ระยะที่ 2  เริ่มมีการอักเสบเล็กน้อย

ระยะที่ 3  มีการอักเสบมากขึ้น  จนมีการบวมโตของเซลล์ตับ

ระยะที่ 4  มีพังผืดตับเกิดขึ้น (ตับแข็ง)

โดยพบว่าหากคนไข้ที่มีภาวะไขมันพอกตับในระยะ 3 ขึ้นไป  ประมาณ 30% จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับสูงถึง 2 – 13% ภายในเวลา 5 – 10 ปี
และพบว่าระยะของไขมันพอกตับ  ไม่ได้สัมพันธ์กับระดับค่าการอักเสบของตับจากการตรวจเลือด

การรักษา

-  หยุดสาเหตุตามที่กล่าวข้างต้น เช่น หยุดดื่มสุรา  อาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส สมุนไพรต่างๆ

-  ลดน้ำหนักประมาณ 7 – 10% ใน 6 เดือน การลดน้ำหนักลงเร็วกว่านี้อาจก่อให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรงได้

-  ออกกำลังกาย  จากงานวิจัยพบว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ  โดยจะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ วันละอย่างน้อย 30 – 45 นาที

-  คุมอาหาร  ให้มีพลังงานน้อยกว่า 2,000 - 2,200 กิโลแคลอรี่ต่อวัน  ลดอาหารกลุ่มที่มีแป้ง  น้ำตาล เช่น แป้ง  ขนม  น้ำหวาน  น้ำอัดลม  รวมทั้งผลไม้รสหวาน  น้ำผลไม้

-  ลดการกินไขมันทั้งจากพืชและจากสัตว์ในปริมาณมากเกินไป เช่น  ไขมันทรานส์ (Trans fatty acid) ของทอด crackers cookies กะทิ  เนย  นม  เนื้อ  หมู  ไก่

-  ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญ  คือ  เบาหวาน  ไขมันสูง  ว่ามีหรือไม่  ถ้ามีก็ต้องรักษา  เพื่อลดไขมันสะสมและลดการอักเสบของตับในรายที่มีการอักเสบร่วมด้วย  เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรคต่อไป

-  ยาที่มีผลงานวิจัยว่าได้ประโยชน์ในภาวะไขมันพอกตับ  คือ  วิตามินอีขนาดสูง (800 IU ต่อวัน) จะเลือกใช้ในกรณีที่ลดน้ำหนักและออกกำลังกายแล้วแต่ยังไม่ได้ผล  เนื่องจากยามีผลข้างเคียงมากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองและมะเร็งต่อมลูกหมาก  โดยก่อนเริ่มยาจำเป็นที่จะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย  นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานหรือคนไข้ที่มีภาวะตับแข็งแล้ว  เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ


ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ : 16 ตุลาคม 2566

 

 

 

        

   บทความเพื่อสุขภาพ
   คลิปรายการสุขภาพ
   นักลงทุนสัมพันธ์
   CSR ลานนาเพื่อสังคม
   แผนกบริการ
   คลินิกพิเศษ
   ร่วมงานกับเรา
   ข่าวสารลานนา
   สิทธิประโยชน์ส่วนลด
    
        
 ศูนย์ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก
   ศูนย์สวนหลอดเลือดสมอง
   ศูนย์ส่องกล้องผ่าตัดแผลเล็ก
  ศูนย์โรคปวดหลัง
   ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
   ศูนย์มะเร็งนรีเวช
   ศูนย์สูตินรีเวช
   ศูนย์เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์
   ศูนย์กุมารเวชกรรม
   ศูนย์อายุรกรรม
   ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน
   ศูนย์ทันตกรรม
   ศูนย์โรคปวดท้อง
   ศูนย์ตรวจสุขภาพ
   ศูนย์ศัลยกรรมส่องกล้อง

           

 
designed by Lanna Hospital